เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก “เศรษฐกิจพอเพียง” หนึ่งในพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระประสงค์ให้ชาวไทยนำไปปรับใช้ในชีวิต เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเราในฐานะราษฎรพร้อมที่จะน้อมนำคำสอนของท่านไปปฏิบัติตาม แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจความหมายแท้จริงของเศรษฐกิจพอเพียงว่าคืออะไร แล้วใช่อย่างที่ปฏิบัติกันอยู่หรือไม่ ว่าแล้วก็ไปค้นหาคำตอบกันดีกว่า
ความหมายแท้จริงของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง คือ ปรัชญาที่แนะนำเกี่ยวกับเรื่องการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในสังคมทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นระดับครอบครัว ชุมชน รวมไปถึงระดับรัฐบาลที่ดูแล พัฒนาบริหารประเทศ โดยปรัชญาของในหลวง ร.9 มีความหมายว่า การดำเนินชีวิตบนทางสายกลาง นั่นคือ มีความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดีซึ่งถือเป็นความจำเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังหมายรวมถึง ความรอบคอบ รอบรู้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ที่จะนำหลักวิชาการ สิ่งต่างๆ มาใช้ไม่ว่าจะขั้นตอนใดก็ตาม ในขณะเดียวกันการปลูกจิตสำนึกให้กับพื้นฐานภายในจิตใจของคนในสังคม ให้มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต รวมถึงรอบรู้ในทางที่เหมาะสม โดยยึดหลักความอดทน การมีสติปัญญา ความรอบคอบ ความเพียรพยายาม ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้คนในสังคมพร้อมที่จะยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เช่น ด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม หรือด้านวัตถุ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และก็เพื่อให้เกิดความสมดุลในชีวิตด้วยนั่นเอง
โดยเราได้แจกแจงความหมายของคุณสมบัติต่างๆ ให้กระชับ เข้าใจง่าย ดังนี้
- ความพอประมาณ นั่นคือ ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใดก็ตาม ต้องไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ต้องทำแล้วเกิดความพอดีไม่มากหรือน้อยจนเกินเหตุ
- ความมีเหตุมีผล นั่นคือ การที่เราจะตัดสินใจสิ่งต่างๆ ในเรื่องของความพอเพียงได้ ต้องเป็นไปด้วยเหตุ ด้วยผล มีการพิจารณาทุกด้าน ถึงสาเหตุที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลที่ตามมาด้วย ว่าหากเราคิดจะกระทำสิ่งนั้นๆ ลงไป อะไรจะเสียหาย หรืออะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งควรไตร่ตรองให้รอบคอบ
- การมีภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดี นั่นคือ การที่เรามีความพร้อมที่จะตั้งรับเตรียมตัวได้ดีในสถานการณ์ หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่างๆ ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้
ทั้งนี้ เงื่อนไขในการดำเนินกิจกรรมหรือช่วยตัดสินใจให้อยู่ในความพอเพียง มี 2 อย่าง คือ เงื่อนไขคุณธรรมที่ควรสร้างเสริม ได้แก่ มีความเพียร รู้จักใช้สติแก้ไขปัญหา มีความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมไม่ว่าจะหน้าที่การงานใด และเงื่อนไขความรอบคอบรอบรู้ ได้แก่ การวางแผนใดๆ ต้องมีความรอบคอบ สามารถพิจารณาเชื่อมโยงเหตุการณ์ รวมถึงความรอบรู้ในด้านวิชาการต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ วางแผนสิ่งต่างๆ